\ ข่าวพระเครื่อง คมเลนส์ส่อง 25 พฤษภาคม 2556 - พระเครื่อง มณเฑียร : พระเครื่อง มณเฑียร
เว็บพระมณเฑียร ศูนย์รวม ร้านค้าพระเครื่อง ยอดนิยม ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน พระเครื่อง พระบูชา วัตถุมงคลต่างๆ
พระเครื่อง พระมณเฑียร  พระมณเฑียร  ͧ   สมัครเปิดร้าน  ͧ   พระเครื่องมาใหม่  พระเครื่อง พระมณเฑียร   ข่าวพระเครื่อง/บทความ พระเครื่อง พระมณเฑียร    ร้านพระเครื่อง พระเครื่อง พระมณเฑียร  ติดต่อ    ค้นหาพระ:   ENG Version











คมเลนส์ส่อง 25 พฤษภาคม 2556



คมเลนส์ส่องพระ25พฤษภาคม2556

คมเลนส์ส่องพระวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 : แล่ม จันท์พิศาโล


••• พรุ่งนี้มี...งานประกวดพระ ที่ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม จัดโดยทีมงานนิตยสาร พระท่าพระจันทร์ อันมี หมึก ท่าพระจันทร์, ยี่ บางแค, วัฒน์ บางแค และ อ้วน นครปฐม เป็นผู้ดำเนินงาน งานนี้ฟอร์มใหญ่มาตั้งแต่การจัดพิมพ์ สูจิบัตร รายการประกวดพระ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มใหญ่ (๑๐x๑๓ นิ้ว) พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ต ๔ สี่ทั้งเล่ม ภาพสวยทุกหน้า ที่สำคัญ คือ รายการพระที่จัดประกวด ได้ลงภาพตัวอย่างของพระแต่ละพิมพ์ที่จัดประกวดให้ชมด้วย พร้อมทั้งภาพคณะกรรมการแต่ละคนที่ตัดสินพระโต๊ะนั้นๆ นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำเช่นนี้ และคิดว่าวันข้างหน้าคงจะไม่มีใครกล้าจัดทำเช่นนี้ เพราะค่าจัดทำแพงมาก โดยเฉพาะค่ากระดาษ...งานประกวดพระครั้งนี้มีทั้งหมด ๔๖ โต๊ะ รวม ๒,๘๖๓ รายการ รางวัลพระชนะเลิศแต่ละรายการ หนังสือ “พระสมเด็จ วัดระฆัง” หนากว่า ๓๐๐ หน้า ประกอบด้วยภาพพระเครื่องของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ผู้สร้างพระสมเด็จ วัดระฆัง, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์) ผู้สร้างพระสมเด็จปิลันทน์ และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ผู้สร้างเหรียญหล่อวัดระฆัง หลังค้อน...เป็นผลงานการจัดทำโดยทีมงานนิตยสาร พระท่าพระจันทร์ ที่มีคุณค่าต่อวงการพระเครื่องมาโดยตลอด...จนเกิดการสะสมหนังสือทุกเล่มที่จัดทำโดยทีมงานนี้ เพราะหนังสือประเภทนี้ไม่ได้จัดพิมพ์เพื่อจำหน่าย และมีจำนวนพิมพ์ประมาณ ๓,๐๐๐ เล่มเท่านั้น หมดแล้วหมดเลย ไม่มีการจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ ขึ้นมาอีก หนังสือประเภทนี้ยิ่งนานวัน ยิ่งมีคุณค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น หนังสือหายาก ที่มีราคาแพง...

•• วันนี้ทีมงานนิตยสาร พระท่าพระจันทร์ ได้ส่งภาพบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้มาให้ท่านผู้อ่าน คมเลนส์ส่องพระ ได้ชมเป็นวิทยาทาน เริ่มจาก พระสมเด็จ วัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม องค์สวยสมบูรณ์ คมชัดจนเห็น ๓ จุดสำคัญของพระพิมพ์นี้ ที่คนสมัยก่อนเรียกคล้องจองกันว่า พิมพ์อกร่องหูยานฐานแซม ครบสูตรทุกอย่าง ต่อมามีการเรียกชื่อสั้นลงเหลือเพียง พิมพ์ฐานแซม เพราะมีพระบางองค์ไม่ปรากฏใบหู และอกที่เป็นร่อง...พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม องค์นี้ถือเป็นพระองค์ครูที่สวยงามคมชัดมาก เป็นพระองค์แชมป์ในอดีตที่กลายเป็น พระในตำนาน ไปแล้ว วันนี้เจ้าของพระไม่นำออกมาโชว์ให้ใครเห็นอีกเลย...นอกจากภาพเก่าที่เห็นในวันนี้

•• พระสมเด็จ วัดระฆัง อีก ๒ องค์ จากหนังสืองานประกวดพระที่ รร.นรต.สามพราน จ.นครปฐม ในวันพรุ่งนี้ คือ พระสมเด็จ วัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ พระพิมพ์นี้คงสร้างน้อยมาก จึงพบเห็นยาก จนได้รับการจัดอันดับสุดท้ายของ พระสมเด็จ (โต) วัดระฆัง ความสวยงามด้านพิมพ์ทรงองค์พระอาจจะด้อยไปบ้าง แต่เนื้อหามวลสารก็เหมือนพระสมเด็จสายวัดระฆังทุกอย่าง และด้วยความหายากมาก ราคาการเช่าหาจึงไม่สูงเท่ากับพระสมเด็จพิมพ์อื่นๆ ในชุดนี้...การที่ทีมงานสามารถหาภาพ พระสมเด็จ วัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ มาลงในหนังสือเล่มนี้ได้ ถือว่าสุดยอดมากจริงๆ

•• สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์) ท่านเป็นเจ้านายชั้นสูง ทรงบรรพชาอุปสมบทอยู่ที่วัดระฆัง ในสมัย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้รับการถ่ายทอดพุทธาคมจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ทุกอย่าง เมื่อท่านได้สร้างพระเครื่องเนื้อผง ก็ไม่ได้ลอกเลียนแบบพิมพ์ทรง พระสมเด็จ ของอาจารย์ โดยพระเนื้อผงที่ท่านสร้างขึ้นนั้นมีความโดดเด่นสวยงามด้านพิมพ์ทรงองค์พระมาก อาทิ พระพิมพ์ซุ้มประตู ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น ฝีมือช่างหลวง รวมทั้ง พระเนื้อผงพิมพ์อื่นๆ ที่มีพิมพ์ทรงแตกต่างไปพระเนื้อผงทั่วๆ ไป พระเนื้อผงของท่านสร้างในสมัยที่ทรงดำรงสมณศักดิ์ พระพุทธบาทปิลันทน์ จึงมีการเรียกชื่อพระเครื่องของท่านว่า พระปิลันทน์ มีหลายพิมพ์ เนื้อออกเทาเข้ม มีทั้งพระที่ไม่ได้บรรจุกรุ เป็นพระที่แจกในสมัยท่านยังอยู่ และอีกส่วนหนึ่งบรรจุกรุ พระส่วนนี้จะมีคราบกรุ ตามองค์พระเป็น ไขขาว และเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะของพระกรุนี้ วันนี้มีภาพมาให้ชม ๒ องค์ คือ พระปิลันทน์ พิมพ์ซุ้มประตู และ พิมพ์ซุ้มครอบแก้วใหญ่ ซึ่งเห็นคราบกรุที่เป็นไขขาวคลุมทั้งองค์พระ ทำให้ง่ายต่อการพิจารณาว่าเป็น พระแท้ หรือ พระปลอม ได้โดยสะดวก

•• เจ้าอาวาสวัดระฆัง ที่ทำหน้าที่ต่อมา คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ผู้สร้าง เหรียญหล่อวัดระฆัง หลังค้อน หรือ พระวัดระฆังหลังค้อน ท่านเป็นโอรส หม่อมเจ้าถึก พระโอรสใน สมเด็จพระประพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ พออายุ ๗ ขวบ บิดาได้พาไปถวายเป็นศิษย์ พระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด) ซึ่งเป็นศิษย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ต่อมา รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อพ.ศ.๒๔๑๓ และมีอายุครบอุปสมบท (พ.ศ.๒๔๒๑) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด) ครั้งเมื่อยังเป็น หม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตามลำดับ จนถึงตำแหน่งพระราชาคณะที่ พระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๑ สิริอายุรวม ๗๐ ปี พรรษา ๕๐ ผลงานด้านพระเครื่องของท่านที่โด่งดังและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป คือ พระสมเด็จ วัดระฆัง หลังค้อน เนื้อโลหะผสม หล่อแบบโบราณ ขนาดองค์พระเล็กกะทัดรัด กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. สูงประมาณ ๑.๗ ซม. ท่านได้สร้างพระพิมพ์นี้เมื่อปี ๒๔๕๓-๒๔๕๗ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม ต่อมาท่านได้สร้างพระพิมพ์เดียวกันนี้อีกครั้งช่วงปี ๒๔๕๘-๒๔๗๐ โดยนำแผ่นโลหะที่พระอาจารย์ต่างๆ ได้ลงอักขระมาหลอมหล่อรวมกับชนวน พระพุทธชินราช (จำลอง) ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เป็นชนวนในการสร้าง พระสมเด็จ วัดระฆัง หลังค้อน พิมพ์นี้ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในวงการพระขณะนี้

•• พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อว่าน รุ่นพินัยกรรม พิมพ์กรรมการ ปี ๒๕๐๕ จัดเป็น พระเนื้อว่าน รุ่นที่ ๒ ของวัดช้างให้ ที่มีรูปทรงใกล้เคียงกับ รุ่นแรก ปี ๒๔๙๗ ในหนังสือพินัยกรรมที่ พระอาจารย์ทิม ได้ทำไว้เมื่อปี ๒๕๑๒ ได้มีการกล่าวถึงพระเนื้อว่านที่ปลุกเสกพร้อมกับพระเนื้อโลหะเมื่อปี ๒๕๐๕ ที่เก็บไว้ประมาณ ๒,๐๐๐ องค์ (แต่ท่านไม่ได้ระบุว่า สร้างทั้งหมดกี่องค์ คาดว่าประมาณไม่เกิน ๕,๐๐๐ องค์) พระเนื้อว่านรุ่นนี้จึงเรียกว่า รุ่นพินัยกรรม มี ๓ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์กรรมการ มีเค้าหน้าคล้ายกับ พิมพ์กรรมการ รุ่นแรก ปี ๒๔๙๗ ค่อนข้างมาก แต่องค์พระเล็กกว่า ๒.พิมพ์หน้าใหญ่ เค้าโครงหน้าแตกต่างจากพระเนื้อว่านรุ่นแรกอย่างชัดเจน และ๓.พิมพ์พระรอด พิมพ์ทรงคล้ายกับ พระเนื้อว่านรุ่นแรก พิมพ์พระรอด อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๓ พิมพ์นี้ ยังแบ่งเป็นพิมพ์ย่อยออกไปได้อีกหลายพิมพ์ ตามลักษณะใบหน้าที่มีความแตกต่างกัน โดยปกติพระเนื้อว่านรุ่นพินัยกรรม จะมีลักษณะเนื้อหามวลสารที่ค่อนข้างต่างกับ พระเนื้อว่าน รุ่นแรก ปี ๒๔๙๗ คือ รุ่นพินัยกรรม เนื้อหาจะดูละเอียดและแน่น ดูไม่นุ่มตาเหมือนของปี ๒๔๙๗ ทั้งนี้ เนื่องจากองค์ประกอบของมวลสารของรุ่นแรกปี ๒๔๙๗ น่าจะมีมากกว่านั่นเอง จุดสังเกตอีกประการใน พระรุ่นพินัยกรรม คือ ด้านหลังองค์พระส่วนใหญ่มักจะมีแร่สีเหลืองอมทอง ปรากฏอยู่ทั่วไป ขนาดเม็ดแร่นี้มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก กระจายอยู่อย่างไม่มีรูปแบบตายตัว อย่างไรก็ตาม พระบางส่วนหนึ่งก็ไม่มีเม็ดแร่ที่ว่านี้ จุดชี้แท้เก๊สำหรับพิมพ์พินัยกรรมนี้ดูได้จากธรรมชาติของเนื้อหามวลสารและพิมพ์ทรงเป็นสำคัญ รวมทั้งการพิจารณาลักษณะของ เม็ดแร่ ด้านหลังองค์พระ ก็สามารถบ่งบอกถึงความแท้หรือเก๊ได้ง่ายขึ้น พระหลวงพ่อทวด รุ่นพินัยกรรม เนื้อว่าน พิมพ์กรรมการ ปี ๒๕๐๕ องค์ในภาพนี้ที่ถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน สวยสมบูรณ์ดูง่าย ถือเป็น พระแท้องค์ครู พระสวยองค์จริง ตามสูตรทุกประการ เป็นพระที่ได้รับรางวัลมาแล้วจากการประกวดพระที่สมาคมพระเครื่องรับรอง เป็นพระของ นพ.กมลพรรธน์ เมฆวรวุฒิ ศูนย์แพทย์ธนบุรี ผู้ชำนาญด้านโรคผิวหนังโดยเฉพาะ และเป็นผู้นิยมชมชอบ พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เป็นพิเศษ โดยได้สะสมพระสายนี้ไว้จำนวนมาก

•• ข่าวดี สำหรับท่านที่ต้องการ หนังสือภาพพระเครื่อง ที่แจกเป็นรางวัลงานประกวดพระทุกครั้งที่ผ่านมา ติดต่อสอบถามได้ที่ “ประภาศรี” โทร.๐๘-๙๑๔๔-๔๓๘๔ บริการจัดส่งทางไปรษณีย์ •• ขอบพระคุณ ทุกท่านที่ติดตาม คมเลนส์ส่องพระ มาโดยตลอด...นะมัสเต •••


ข้อมูลจาก http://www.komchadluek.net/



  พระเครื่อง มณเฑียร   สงวนลิขสิทธิ์ เนื้อหาทั้งหมดตั้งแต่ปี 2011 ชมรมพระเครื่อง มณเฑียร   พระเครื่อง มณเฑียร  
 
พระเครื่อง มณเฑียร เว็บไซด์ : พระมณเฑียร : WWW.PRAMONTIEN.COM   พระเครื่อง มณเฑียร