\ ข่าวพระเครื่อง พระหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง ในอาคารหอประชุม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย - พระหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง ในอาคารหอประชุม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย : พระเครื่อง มณเฑียร
เว็บพระมณเฑียร ศูนย์รวม ร้านค้าพระเครื่อง ยอดนิยม ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน พระเครื่อง พระบูชา วัตถุมงคลต่างๆ
พระเครื่อง พระมณเฑียร  พระมณเฑียร  ͧ   สมัครเปิดร้าน  ͧ   พระเครื่องมาใหม่  พระเครื่อง พระมณเฑียร   ข่าวพระเครื่อง/บทความ พระเครื่อง พระมณเฑียร    ร้านพระเครื่อง พระเครื่อง พระมณเฑียร  ติดต่อ    ค้นหาพระ:   ENG Version











พระหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง ในอาคารหอประชุม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย

พระหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง ในอาคารหอประชุม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย ที่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้น ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กทม. เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๔๐ รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้เป็นนิติบุคคล และมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

แรกเริ่มของการก่อสร้างอนุมัติจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยจากรัฐบาลนั้น ที่ดินและอาคารทั้งหมดสร้างโดยเงินบริจาคโดยตรงจากผู้มีจิตศรัทธา ที่สำคัญประกอบด้วย นพ.รัศมีและคุณหญิงสมปอง วรรณิสสร เป็นผู้ถวายที่ดินเป็นนรายแรก จำนวน ๘๔ ไร่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พระวิสุทธาธิบดี) วัดสุทัศนเทพวราราม พระพรหมมังคลาจารย์ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระราชพิพัฒน์โกศล วัดศรีสุดาราม นางยุวรี เอื้อกาญจนวิไล นายศักดิ์ชัยและนางสุดาวรรณ เตชะไกรศรี โดยใช้งบประมาณค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปแล้วทั้งสิ้น สองพันหนึ่งร้อยล้านบาทถ้วน

ในการก่อสร้างอาคารหอฉัน ๘๕ ล้านบาท นั้น โดยวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๔ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เข้ากราบนมัสการของบจากพระวิสุทธาธิบดี (วีระ ภัททจารี ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม มีนายสิทธิกร บุญฉิม ขณะอายุ ๓๐ ปีจัดหาทุน โดยได้วางศิลาฤกษ์เริ่มก่อสร้างวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕ รวมทั้งมีการสถาปนาพระกริ่งจักรพรรดิ ในโอกาสฉลองอายุ ๗๒ ปี พระวิสุทธาธิบดี จัดพิธีพุทธาภิเษก ๙ ชาติ ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๖ รวมพิธี ๑๑ วัน ทั้งนี้ได้อาราธนาพระเถราจารย์จากทั่วทุกมุมโลกมาประกอบพิธีเป็นครั้งแรกของเมืองไทย

การจัดสร้างพระกริ่งฯ มีพุทธศาสนิกชนศรัทธามาก จึงประสบความสำเร็จอย่างดี และเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ นำเงินขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร องค์ประธานอุปถัมภ์โครงการก่อสร้างฯ เพื่อพระราชทานแก่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำมาดำเนินการสร้างอาคารหอฉัน มีพระเทพสิทธิโกศล(ใหญ่) วัดพลับพลาชัย เป็นผู้ควบคุม มีพระราชพิพัฒน์โกศล หรือหลวงพ่อเณร วัดศรีสุดาราม ประธานโครงการพิเศษฯ ให้การสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม เมื่ออาคารหอฉันสร้างแล้วเสร็จมหาวิทยาลัยได้ทูลขอพระมหากรุณาพระราชทานแต่งตั้งให้คุณสิทธิกร บุญฉิม เป็นประธานจัดหาทุนสร้างอาคารหอประชุมฯมูลค่า ๒๐๐ ล้านบาท มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลขอพระมหากรุณา คุณสิทธิกรได้แต่งตั้งกรรมการ ๕๒ ท่าน โดยให้มหาวิทยาลัยขออนุญาตจากวัดโสธรวรารามวรวิหาร จัดสร้างพระเครื่องพระพุทธโสธร เหรียญนามสกุล จัดพิธีอาราธนาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และพระสงฆ์วัดต่างๆ ๑๐,๐๐๐ รูป ประกอบพิธีกรรมวันที่ ๑-๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๗ ณ พระอุโบสถเฉลิมพระเกียรติ วัดโสธรวรารามวรวิหาร

การพิธีครั้งนั้น คุณสิทธิกรริเริ่มจัดสร้างพระพุทธโสธรองค์ใหญ่ เพื่ออัญเชิญมาเป็นพระประธานให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเททอง ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๗ การหาทุนทำให้มหาวิทยาลัยได้รับเงินทุน ๑๐๐ ล้านบาท และทางโครงการพิเศษได้รับพระเครื่องเหรียญนามสกุล มูลค่ากว่า ๓๐๐ ล้านบาท จากการครั้งนั้นเกิดเป็นอานิสงส์ให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขอรับพระราชทานผ้ากฐินพระราชทานแก่คุณสิทธิกร บุญฉิม ให้อัญเชิญสู่บ้านเกิดถวายพระภิกษุสงฆ์ ณ วัดสุวรรณรังสรรค์ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๖

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๙ เวลา ๑๒.๐๙ น. พระราชพิพัฒน์โกศล และคุณสิทธิกร ได้ร่วมจัดพิธีอัญเชิญพระพุทธโสธรองจำลอง ออกจากวัดโสธรวรารามวรวิหาร ลงแพแม่น้ำบางปะกงขบวนแห่ออกปากอ่าวไทยเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๙ เข้าประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เริ่มสมโภชตั้งแต่วันที่ ๒๘ มกราคม-๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙ รวม ๙ วัน ๙ คืน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จมาทรงเป็นประธานเบิกพระเนตร และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จมาทรงเป็นประธานปิดทองคำเป็นปฐมฤกษ์ งานครั้งนั้นมีผู้คนทั้งประเทศให้ความสนใจอย่างมาก

การจัดหาทุนก่อสร้างอาคารหอฉัน และอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทำให้นายสิทธิกรเป็นที่รู้จักของคณะสงฆ์ไทยอย่างมาก โดยพระพรหมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ในสมัยดำรงสมณศักดิ์พระธรรมโกศาจารย์ สถิต ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ได้มีบันทึกอนุโมทนาด้วยลายลักษณ์อักษรประกาศยกย่องให้เป็น “มหาอุบาสกสิทธิกร บุญฉิม” ในขณะมีอายุ ๓๒

มจร.วังน้อยเปิดอย่างเป็นทางการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ย้ายสถานที่ปฏิบัติงานจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มายังสำนักงานแห่งใหม่เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเปิดอาคาร ม.ว.ก. ๔๘ พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ บริเวณที่ดินดังกล่าว

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมเป็น ๓๒๕ ไร่ ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดสร้างวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของชาวไทยและชาวโลกต่อไป

เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "นันทสิทธิ นิตย์เมธา"


ข้อมูลจาก http://www.komchadluek.net



  พระเครื่อง มณเฑียร   สงวนลิขสิทธิ์ เนื้อหาทั้งหมดตั้งแต่ปี 2011 ชมรมพระเครื่อง มณเฑียร   พระเครื่อง มณเฑียร  
 
พระเครื่อง มณเฑียร เว็บไซด์ : พระมณเฑียร : WWW.PRAMONTIEN.COM   พระเครื่อง มณเฑียร