เว็บไซด์แนะนํา








คมเลนส์ส่อง พระเครื่อง ประจำ วันอาทิตย์ที่ 06 มกราคม 2556


 
 พระเครื่อง คมเลนส์ส่อง
 พระเครื่อง คมเลนส์ส่อง
 พระเครื่อง คมเลนส์ส่อง
 พระเครื่อง คมเลนส์ส่อง

คมเลนส์ส่องพระ6มกราคม2556

คมเลนส์ส่องพระประจำวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556 : แล่ม จันท์พิศาโล



สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๖ ขอให้ท่านผู้อ่านหน้าพระเครื่อง นสพ.คม ชัด ลึก ทุกท่าน จงมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสุขกันถ้วนหน้า และที่สำคัญสำหรับท่านนักสะสมพระเครื่อง คือ ขอให้ได้ พระแท้ บ่อยๆ พระที่ไม่ได้อยู่ในตำรามาตรฐานสากลนิยม พระคาบลูกคาบดอก ขอให้ห่างไปไกลๆ อย่าได้กล้ำกราย เข้ามาใกล้ตัวกันเลย...สาธุ

คมเลนส์ส่องพระ วันนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มาพบกันในบรรยากาศที่ยังมีกลิ่นอายของ เทศกาลขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๖ ที่ยังมีอยู่โดยทั่วไป ปีนี้คนไทยทั่วประเทศต่างมีความสุขสนุกสนานกับจัดงานฉลองปีใหม่กันอย่างคักคัก โดยเฉพาะการนับถอยหลังในคืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม ในขณะที่มีพุทธศาสนิกชนอีกจำนวนมากที่หันไป สวดมนต์ข้ามปี นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง ซึ่งปีนี้มีการจัดงานกันหลายแห่งทั่วเมืองไทย นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าศรัทธาเลื่อมใส และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอย่างแท้จริง...ปลายปีนี้คงจะมีการจัดกิจกรรมดีๆ เช่นนี้อีก...ขอสนับสนุนอย่างเต็มที่

ช่วงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สนามพระ ทุกแห่งเงียบเหงามาก เพราะผู้คนส่วนใหญ่ออกไปทำบุญท่องเที่ยวต่างจังหวัดกันหมด ถนนหนทางทุกสายโล่งดี ไปไหนมาไหนสะดวกสบายมากๆ ผู้เขียนเองหมดวัยท่องเที่ยวแล้วก็เลยขึ้นไป สนามพระ บนห้างพันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน หาเพื่อนคุยซึ่งพอมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะที่ร้าน หวายเก้าเส้น ของ “น้าคล้อย” สานิตย์ ขนิษฐบุตร ผู้ไม่ยอมปิดร้านเหมือนคนอื่นๆ ปรากฏว่ามีลูกค้ามาสั่งทำ สร้อยประคำทองคำ ตลอดทั้งวัน...สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ - คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้”

พระเครื่ององค์แรกในโอกาสเปิดคอลัมน์วันนี้ ขอเริ่มด้วย พระสมเด็จจิตรลดา ที่สร้างขึ้นโดยฝีพระหัตถ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตใหม่ที่จะเริ่มขึ้นในปีใหม่ ๒๕๕๖ อันเป็นปีมะเส็ง (งูเล็ก) โดยทั่วกัน...พระสมเด็จจิตรลดา ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองนั้น เริ่มจากปี ๒๕๐๘ จนถึงปี ๒๕๑๓ จำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ องค์ โดยได้พระราชทานข้าราชบริพาร ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ฯลฯ ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พร้อมทั้งมีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า “ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ” ดังเช่นในเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” ... สมัยก่อนผู้ที่ได้รับพระราชทาน พระสมเด็จจิตรลดา โดยตรงจะหวงแหนกันมาก ด้วยถือว่าเป็น “ของสูง” ที่ผู้มีบุญวาสนาเท่านั้นถึงจะได้ครอบครอง ต่อมาเมื่อได้ตกทอดสู่คนรุ่นลูกหลานเกิดความจำเป็นในเรื่องเงินทอง หมดบุญวาสนาที่จะได้ครอบครองต่อ ก็เลยมีการเปลี่ยนมือกันขึ้น ด้วยตัวเลขที่สูงถึงกว่าล้านบาท ทำให้ พระสมเด็จจิตรลดา ปรากฏโฉมหน้าให้พบเห็นในวงการพระบ่อยขึ้น สำหรับองค์ในภาพนี้ เป็นพระ ปี ๒๕๑๒ อยู่ในความครอบครองของ พ.ต.อ.ประพจน์ โชติคุณ ผกก.๒ บก.ทท.(ตำรวจท่องเที่ยว)

ก่อนปีเก่าจะจากไป ร้านกาแฟ ในสนามพระบนห้างพันธ์ทิพย์งามวงศ์วาน ซึ่งมีอยู่หลายร้าน มีอันต้องย้ายออกไปบางร้าน เพราะร้านพระมีมากขึ้น จนมีการเปลี่ยนมือพื้นที่กัน หนึ่งในนั้นคือ ร้านพระของ ซุป เตาปูน เข้ามาแทนที่ร้านกาแฟตรงหัวมุมอันเป็นพื้นที่ทำเลทอง ที่นี่เป็นแหล่งรวมพระยอดนิยมมากมายหลายประเภท เพราะเป็น เซียนพระ ระดับแถวหน้าคนหนึ่ง ที่กล้าซื้อพระราคาแพง ถ้าหากเป็น พระแท้สวยดูง่าย วันนี้ได้ฝากภาพให้ชมต้อนรับปีใหม่ ๒ องค์ คือ พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนก จ.กำแพงเพชร เป็นพระดินเผา ชนิดละเอียดนุ่มมัน พระองค์นี้แม้จะผ่านการใช้มาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีจุดสำคัญของพระแท้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะพิมพ์ทรงองค์พระ ที่ยังปรากฏรายละเอียดบนพระพักตร์ ซอกแขนลึก อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของ พระพิมพ์ใหญ่ ว่านแร่ดอกมะขามที่เป็นจุดสีแดงเล็กๆ ที่ขึ้นประปรายทั่วองค์พระ รวมทั้งราดำซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของพระเนื้อดินเผาที่ฝังกรุอยู่ในที่ชื้น เป็นพระที่มีพุทธศิลป์สมัยสุโขทัยผสมลังกา ที่เรียกว่า พระซุ้มกอ ก็ด้วยเหตุที่ว่า พระพิมพ์นี้มีกรอบโค้งมนเหมือนกับตัวอักษร ก.ไก่ อันเป็นที่มาของชื่อ พระซุ้มกอ ขุดพบตามบริเวณวัดต่างๆ ที่อยู่ในเขตทุ่งเศรษฐี อาทิ วัดบรมธาตุ วัดพิกุล วัดฤาษี ฯลฯ ด้วยเหตุที่เป็นพระอายุเก่า พบน้อย จึงมีคุณค่าในการเช่าหาสูง จนถึงกับมีคำพูดติดปากมาตั้งแต่คนสมัยเก่าก่อนว่า “มีกูแล้วไม่จน” ... พระกำแพงซุ้มกอ มี ๕ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์ใหญ่ มีกนกข้างและไม่มีกนกข้าง ที่ไม่มีกนกข้างส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อสีดำ หรือสีน้ำตาลแก่ เรียกว่า พระซุ้มกอดำ ๒.พิมพ์กลาง ๓.พิมพ์เล็ก ๔.พิมพ์เล็กพัดโบก และ ๕.พิมพ์ขนมเปี๊ยะ พุทธคุณดีเด่นด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย เรียกว่าใช้ได้ครอบจักรวาล

โด่งดังมาโดยตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เหรียญเจ้าสัว หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม แม้ว่าจะเช่าหากันถึงหลักล้านขึ้นไป แต่ก็มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันอยู่เสมอ อย่างเช่นเหรียญที่เห็นนี้ เป็นเหรียญของ ซุป เตาปูน เป็นเหรียญเนื้อทองแดงที่มีความสวยสมบูรณ์คมชัดมากเหรียญหนึ่ง ที่พิเศษคือ เหรียญนี้มีรอยเหล็กจารลายมือ หลวงปู่บุญ ถึง ๑๐ ตัว การซื้อขายก็ย่อมต้องแพงกว่าเหรียญที่ไม่มีรอยเหล็กจารอย่างแน่นอน...เหรียญเจ้าสัว หลวงปู่บุญ เป็น ๑ ใน ๕ ของชุดเบญจภาคีเหรียญหล่อยอดนิยม สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ โดย พระวินัยกิจโกศล เนื่องในโอกาสทำบุญอายุครบ ๗ รอบ (๘๔ ปี) ของ หลวงปู่บุญ มี ๒ เนื้อ คือ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง สมัยนั้นเรียกว่า พระซุ้มกระจัง ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า เหรียญเจ้าสัว เพราะผู้ที่มีพระรุ่นนี้ส่วนใหญ่เป็นคหบดีผู้มีอันจะกิน ที่เรียกว่า เจ้าสัว ทั้งสิ้น คำว่า เจ้าสัว หมายถึงคนที่รวยกว่า เถ้าแก่ หลายเท่า...คำนี้ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า จ่อซัว ในสำเนียงจีนกลาง คือ จว้อซาน หมายถึงผู้มีความมั่นคงในฐานะความเป็นอยู่ (จ่อ=ที่นั่ง, ซัว=ภูเขา) ส่วนคำว่า เถ้าแก่ สำเนียงแต้จิ๋วคือ เถ่าแก ในสำเนียงจีนกลางคือ โถวเจีย, สำหรับความหมายของคำว่า เจ้านาย หรือ BOSS จะนิยมเรียกกันว่า เหลาปั่น (ข้อมูลจาก ผศ.ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล ผู้เขียนหนังสือ “ศิลปะจีนสมัยใหม่”) ปัจจุบัน มีพระเกจิอาจารย์หลายท่านนิยมสร้าง เหรียญเจ้าสัว กันมากมาย โดยลอกพิมพ์ไปจาก เหรียญเจ้าสัว หลวงปู่บุญ แต่จะให้โด่งดังขลังเท่ากับของเจ้าของต้นตำรับนั้นคงยาก เพราะบารมีและความแก่กล้าทางคาถาอาคมห่างกันไกล

ทุกวันนี้...มีผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการตุลาการ ให้ความสนใจสะสมพระเครื่องด้วยความศรัทธาเลื่อมใสกันมากขึ้น โดยเฉพาะ พระสายหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หนึ่งในนั้นคือ ท่านอัยการกิตติศักดิ์ วงศ์สวัสดิ์ สำนักอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ ๑ เจ้าของ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์พระรอดหน้าใหญ่ เนื้อว่าน รุ่นแรก ปี ๒๔๙๗ องค์ที่เห็นนี้ ซึ่งสวยสมบูรณ์คมชัดมาก เป็นพระแท้ดูง่ายสบายตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพระแก่ว่าน จนปรากฏ ไขว่าน ประปรายทั่วองค์พระ ซึ่งไขว่านที่ว่านี้เป็น ว่านสด ที่นำมาเป็นส่วนประกอบหลักในการสร้าง พระหลวงพ่อทวด รุ่นนี้ จึงเกิดปรากฏการณ์ ไขว่าน ขึ้นเองตามธรรมชาติ ถ้าเป็น พระปลอม ที่นิยมใช้ ว่านแห้ง จะไม่มี ไขว่าน ดังกล่าวเกิดขึ้น แต่จะนำ ไขว่านปลอม มาทากาวติดบนผิวพระแทน ที่พิเศษของพระองค์นี้ คือ เป็นพระเนื้อว่านชนิด ก้นครก เนื้อพระจึงแกร่งกว่าพระเนื้อว่านทั่วไป หากนำองค์พระวางบนกระจกจะเกิดเสียงดัง แกร็ก แสดงว่าเนื้อว่านแห้งสนิทจนแทบจะกลายเป็นหิน เป็นอีกจุดหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณา พระแท้ ได้เช่นกัน

ปีใหม่นี้ ภิยวัฒน์ วัฒนายากร (แต๊ก สงขลา) ได้จัดทำ ปฏิทินแบบตั้งโต๊ะ เป็นพระภาพพระเครื่องที่มีอยู่ในครอบครอง ซึ่งหลายองค์ได้นำลงในคอลัมน์นี้มาแล้ว ที่โดดเด่นบนหน้าปกใบแรก คือ พระพุทธรูปแผ่นทองคำ พร้อมด้วยพระอัครสาวก พระโมคคัลลาน์-พระสารีบุตร ศิลปะสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ขนาดกว้างประมาณ ๔ นิ้ว สูง ประมาณ ๓ นิ้ว เป็นลายดุนนูนที่มีความคมชัดมาก แผ่นทองมีความหนาพอสมควร เป็นของเก่าเก็บที่ แต๊ก สงขลา หวงแหนมาก เพิ่งจะนำภาพมาให้ชมเป็นวิทยาทานในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้เอง

สำหรับปฏิทินปีใหม่ ๒๕๕๖ ภาพพระเครื่องของ ท่านไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ นักสะสมพระเครื่องชื่อดังมาแต่เดิม สมัยที่เป็นผู้บริหาร ธนาคารศรีนคร จำกัด ท่านได้เก็บพระไว้มากมาย ครบทุกประเภท ทุกปีที่ผ่านมาท่านจะนำพระแต่ละองค์ถ่ายภาพจัดทำเป็นปฏิทินแบบตั้งโต๊ะในรูปแบบเดียวกัน โดยแยกเป็นพระแต่ละประเภท โดยปีนี้เป็นภาพ พระรูปหล่อโบราณ ของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในสมัยก่อน ซึ่งได้ลงในคอลัมน์นี้ไปแล้ว ๖ องค์ วันนี้เป็นองค์ที่ ๗ คือ รูปหล่อโบราณ หลวงปู่สุข ธมฺมโชโต (พระครูภาวนาภิมณฑ์) วัดโพธิ์ทรายทอง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่ง อ.เกี๊ยก ทวีทรัพย์ ได้บรรยายใต้ภาพว่า...ท่านเป็นพระเถระที่ทรงอภิญญา ละสังขารเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๕ สิริอายุ ๙๕ ปี พรรษา ๗๓ ท่านได้สร้างพระรูปหล่อหลายคราว คือ ๑.รูปหล่อวัดหนองติม พ.ศ.๒๔๙๘ ๒.รูปหล่อวัดโพธิ์ทรายทอง พ.ศ.๒๕๐๐ มีทั้งเนื้อเงิน เนื้อสำริดเปียกทอง เนื้อสำริด และเนื้อสำริดเงิน ๓.รูปหล่อโบราณพิมพ์ฐานสูง วัดโพธิ์ทรายทอง พ.ศ.๒๕๐๖ เนื้อทองผสม ๔.รูปหล่อพิมพ์หน้าบากใหญ่ และหน้าบากเล็ก วัดชิโนรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๑๒ เนื้อทองผสม ๕.รูปหล่อเนื้อตะกั่ว วัดโพธิ์ทรายทอง พ.ศ.๒๕๑๓ และ ๖.รูปหล่อพิมพ์หน้าบากเล็ก วัดแจ้งใน จ.นครราชสีมา พ.ศ.๒๕๑๔...รูปหล่อหลวงปู่สุข ที่จัดสร้างครั้งแรกที่วัดหนองติม พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นพระเทหล่อตัน นอกนั้นทุกรุ่นจะเจาะใต้ฐานบรรจุผงพุทธคุณ นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง รูปหล่อหลวงปู่สุข รุ่นนี้เป็นรุ่นแรก วัดโพธิ์ทรายทอง เนื้อสำริด

วันอังคารที่ ๘ มกราคม นี้ตรงกับวันคล้ายวันมรณภาพของ พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (ท่านเจ้าคุณนร) ซึ่งท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๔ สิริอายุ ๗๓ ปี ๓๓๗ วัน ศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสท่าน จะไปร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่พระคุณท่าน ที่วัดเทพศิรินทราวาส เป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ก็คงเป็นไปตามนั้น

อย่าลืม...วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม นี้ มี งานประกวดพระ ที่บริเวณหน้า องค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม จัดโดย ติ นครปฐม อ้วน นครปฐม และ เสริฐ นครปฐม รวม ๑,๘๐๗ รายการ ครบทุกประเภท สนับสนุนโดย สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย รางวัลพระชนะเลิศแต่ละรายการ หนังสือ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จัดทำโดย ทีมงานนิตยสาร “พระท่าพระจันทร์” รับประกันคุณภาพ ถ่ายภาพพระชนะการประกวดโดย ทีมงาน “ล้ง ท่าพระจันทร์”

นายฤาชา สิงขรรัมย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ นายชินทัต เวียร์สุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกฝังคุณธรรม-จริยธรรมแก่พนักงาน ครั้งที่ ๓๙ โดยนิมนต์ พระมหาสมปอง ตาลปุตโต พระนักเทศน์ชื่อดังจากวัดสร้อยทองแสดงธรรมะบรรยายหัวข้อ "ธรรมะจากใจมอบให้แด่เธอ" ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ. สมุทรสาคร เมื่อเร็วๆ นี้

เมื่อวานนี้มีเนื้อที่โฆษณาครึ่งหน้า จึงไม่มีคอลัมน์ คมเลนส์ส่องพระ ... สำหรับวันเสาร์ต่อไปคงมีตามปกติ...ลาจากวันนี้ด้วยความขอบพระคุณอย่างสูงที่ทุกท่านได้ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาโดยตลอด ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง นึกหวังสิ่งใดขอให้สมมาดปรารถนาเสมอ โดยเฉพาะการได้ครอบครอง พระแท้ อันเป็นความต้องการของทุกท่าน...พบกันใหม่ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ต่อไป...นะมัสเต



ข้อมูลจากเว็ป   http://www.komchadluek.net


 พระเครื่อง พระมณเฑียร มาตรฐาน พระสวย พระแท้