\ ข่าวพระเครื่อง คมเลนส์ส่องพระ20ตุลาคมพ.ศ.2556 - พระเครื่อง มณเฑียร : พระเครื่อง มณเฑียร
เว็บพระมณเฑียร ศูนย์รวม ร้านค้าพระเครื่อง ยอดนิยม ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน พระเครื่อง พระบูชา วัตถุมงคลต่างๆ
พระเครื่อง พระมณเฑียร  พระมณเฑียร  ͧ   สมัครเปิดร้าน  ͧ   พระเครื่องมาใหม่  พระเครื่อง พระมณเฑียร   ข่าวพระเครื่อง/บทความ พระเครื่อง พระมณเฑียร    ร้านพระเครื่อง พระเครื่อง พระมณเฑียร  ติดต่อ    ค้นหาพระ:   ENG Version











คมเลนส์ส่องพระ20ตุลาคมพ.ศ.2556

คมเลนส์ส่องพระ20ตุลาคมพ.ศ.2556

คมเลนส์ส่องพระวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556 : แล่ม จันท์พิศาโล

••• ตามปกติ คอลัมน์ คมเลนส์ส่องพระ จะมีทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ แต่เมื่อวานนี้ตรงกับ วันพระ ต้องยกเนื้อที่ของหน้านี้ให้กับ หน้าวันพระ จึงไม่มีคอลัมน์นี้...สำหรับ วันนี้มีเหมือนเดิม...(นสพ.คม ชัด ลึก เป็นหนังสือพิมพ์รายวันเพียงฉบับเดียว ที่ให้สำคัญกับ วันพระ จึงได้จัดให้มี หน้าวันพระ ขึ้นเป็นประจำหลายปีมาแล้ว)

•• เขียนข่าวจนลืม...เมื่อวันพุทธที่ ๑๖ ตุลาคม ที่ผ่านมาเป็น วันเกิด ของ นสพ.คม ชัด ลึก ขึ้นรอบปีที่ ๑๓ วันเวลาที่ผ่านมาช่างรวดเร็วจริงๆ พอถึง วันเกิด ของ คม ชัด ลึก ทีไรก็เป็นที่รู้กันว่า อีก ๒ เดือนจะถึง วันขึ้นปีใหม่ กันแล้ว...ขอขอบพระคุณ ทุกหน่วยงาน องค์กร ห้างร้านบริษัท ที่ได้มีน้ำใจไมตรีนำกระเช้าผลไม้ และของขวัญต่างๆ มามอบให้กับ กองบรรณาธิการ อย่างอบอุ่นใจ

•• เมื่อวานนี้เป็น วันออกพรรษา ต่อนี้ไปเป็นหน้า เทศกาลทอดกฐิน ซึ่งจะมีไปจนถึง วันลอยกระทง ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน เป็น วันทอดกฐิน วันสุดท้าย...ไปไหนมาไหนในช่วงนี้ ใครยื่น ซองกฐิน บอกบุญมาให้ทำ ก็อย่าได้ปฏิเสธในการทำบุญ พุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ชาวพุทธเราต้องช่วยกันทำนุบำรุง ถ้าหากเราไม่ทำบุญบำรุงพระศาสนา แล้วจะให้ใครมาช่วยกันค้ำจุนศาสนาของเราให้มั่นคงสถาวรสืบไป •• วันนี้...(วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ตุลาคม) มี งานประกวดพระ ที่อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (โซนเอ) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ จัดโดย เปี๊ยก ปากน้ำ แห่งนิตยสารพระเครื่อง “นักเลงพระ” และ “มรดกฅนไทย” พระที่จัดประกวดมีทุกประเภทรวม ๒,๓๗๙ รายการ...รางวัลชนะเลิศแต่ละรายการหนังสือ “พระเครื่องฅนไทย”

•• คมเลนส์ส่องพระ วันนี้ได้รับภาพมาจาก เฮียตี๋เหล้า ท่าพระจันทร์ ๒ องค์ คือ พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี พิมพ์หน้าแก่ และ พิมพ์หน้าหนุ่ม...เอกลักษณ์ของ พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ คือ ใบหน้ามีลักษณะเหี่ยวย่นเหมือนหน้าคนแก่ ดวงตามองหลุบลงต่ำ พระกรรณ (หู) ขวายาวกว่าข้างซ้าย ปลายพระกโบร (ข้อศอก) ด้านซ้ายไม่คมชัด เห็นเพียงรางๆ ปลายพระองคุลี (นิ้วมือ) ซ้ายยาวไม่จรดพระพาหา (แขน) ขวา ใต้พระชงฆ์ (แข้ง) ซ้าย มีเนื้อเกินเป็นจุดเล็กๆ (มีเฉพาะพิมพ์หน้าแก่แทบทุกองค์) ฐานองค์พระคล้ายเรือสำเภา...ส่วน พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม เอกลักษณ์สำคัญ คือ ปลายยอดบนสุดส่วนมากจะมีเนื้อเกินงุ้มออกมาเล็กน้อย (ที่ไม่มีก็มี) พระพักตร์ (หน้า) คล้ายผลมะตูม มีลักษณะเหมือนคนวัยหนุ่ม พระกรรณ (หู) ทั้ง ๒ ข้างยาวพอๆ กัน พระพาหา (แขน) ทั้ง ๒ ข้าง มีขนาดความหนาเท่ากัน ฐานองค์พระคล้ายเรือสำเภา ปลายพระองคุลี (นิ้วมือ) ซ้ายยาวไม่จรดพระพาหา (แขน) ขวา (ถ้ายาวจรดพระพาหาขวาจะเป็น พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้ากลาง)...โดยทั่วไป วงการนักสะสมจะยกย่อง พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ เป็นพิมพ์ยอดนิยมสุด องค์สวยๆ เช่าหากันถึงหลักล้าน

•• พระผงสุพรรณ เป็นพระหลักยอดนิยมใน ชุดเบญจภาคี ที่นักสะสมพระทุกคนใฝ่ฝันอยากได้ไว้เป็นเจ้าของ พระแท้ดูตรงไหน ในวันอังคารที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ นี้ เวลา ๑๔.๐๐-๑๗.๐๐ น. อ.ต้อย เมืองนนท์ จะบรรยายให้ฟัง “ฟรี” ณ หอประชุมเล็กศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ชมรมพระเครื่องท่าพระจันทร์ เป็นรายการเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง “วิธีดูพระให้เป็นจากภาพถ่ายและหนังสือ” ดำเนินรายการโดย รศ.นิพัทธ์ จิตรประสงค์ ซึ่งนอกจาก อ.ต้อย เมืองนนท์ แล้วก็ยังมี ศุภชัย เรืองสรรงามสิริ (ตี๋เหล้า ท่าพระจันทร์), ฉ่อย ท่าพระจันทร์ และ บอย ท่าพระจันทร์ เป็นผู้ร่วมเสวนา (เวลา ๑๒.๐๐ น. ลงทะเบียนและรับประทานอาหารว่าง) ติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ “ฝน” โทร.๐-๒๖๒๓-๕๕๓๓ หรือที่โทร.๐๘-๑๖๘๖-๒๘๐๓ (กรุณาเดินทางโดยรถสารสาธารณะ - การเข้าร่วมรับฟังเสวนาในครั้งนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ)

•• กรุวัดดาวเสด็จ จ.สระบุรี เป็นต้นกำเนิด พระพิมพ์นางพญา เนื้อดิน ที่เรียกว่า “นางวัดดาวเสด็จ” แท้จริงแล้ว พระกรุนี้นอกจากจะมี พระเนื้อดิน ก็ยังมี พระเนื้อชิน อีกด้วย คือ พระพิมซุ้มปรกโพธิ์ หน้าเดียว, สองหน้า และพิมพ์นางข้างเม็ดซุ้มไข่ปลา ซึ่งหาพบได้ยากกว่า พิมพ์ซุ้มปรกโพธิ์ เสียอีก...นับได้ว่า พระพิมซุ้มปรกโพธิ์ เป็นพระพิมพ์หนึ่งที่มีความสวยงามอลังการมาก ของพระกรุนี้ เนื่องจากพระพิมพ์นี้ขึ้นจากกรุน้อยมาก จึงพบเห็นได้ยาก องค์นี้ถือว่าเป็น พระองค์ครู ก็ว่าได้ เจ้าของคือ ฐกร บึงสว่าง ผู้บริหาร บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง ผู้เก็บพระอะไรเป็นต้องกำไรไปหมด

•• หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี เป็นพระอริยสงฆ์รูปหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถมาก ท่านเป็นผู้หมั่นเรียนรู้หมั่นศึกษาจนจบวิชาอาคมหลายศาสตร์หลายแขนง จากสำนักดังๆ หลายแห่ง จนมีความปราดเปรื่องเรืองนามมาก...ท่านเป็นชาววังด้ง จ.กาญจนบุรี เกิดเมื่อพ.ศ.๒๓๘๗ อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน โดย พระอาจารย์กลีบ วัดหนองบัว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง วัดเหนือ และ พระอาจารย์อินทร์วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า “จนฺทโชติ” เมื่อบวชแล้วได้เรียนหนังสือขอม บาลี มงคลทีปนี มูลกัจจายน์ พระเจ้า ๑๐ ชาติ สูตรสนธิ จนชำนาญ ต่อมาท่านได้เดินทางไปเรียนวิชาอาคมกับ หลวงพ่อทิม วัดบางลี่น้อย อ.อัมพวา และ หลวงพ่อกลัด วัดบางพรม เรียนทางมหาอุด ผ้าเช็ดหน้าเมตตามหานิยม เชือกคาดเอว เครื่องรางรูปกระดูกงูกันเขี้ยวงา ทางคงกระพันชาตรี และ หลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ อัมพวา เรียนทางแพทย์แผนโบราณ มีดหมอ ทางมหาประสาน เชือกคาดชื่อ “ตะขาบไฟ” หรือ “ไส้หนุมาน”...วัตถุมงคลของท่านมีหลากหลายชนิด อาทิ พระปิดตา พิมพ์ใหญ่ (ว่าวจุฬา) พิมพ์สังกัจจายน์ใหญ่ พิมพ์สังกัจจายน์เล็ก, พิมพ์แข้งซ้อนใหญ่, พิมพ์แข้งซ้อนเล็ก, พิมพ์เข่าบ่วง ฯลฯ และที่โด่งดังมาก คือ พระปิดตาเนื้อผง ท่านได้มรณภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ อายุ ๖๖ ปี...วันนี้ได้รับภาพ พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์ชะลูดใหญ่ สภาพเดิมๆ ลงรักถักเชือกติดไว้กับ “สายมงคล” สำหรับสวมศีรษะ ซึ่งมีความเก่าถึงอายุ เป็นพระของ “สุ่ย” ติณห์ ศิลป์ทรัพย์ ผู้ชำนาญพระเครื่องของเกจิอาจารย์รุ่นเก่า

•• เมฆสิทธิ์ คือ เนื้อโลหะชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการผสมโลหะชนิดต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยใช้คาถาอาคมเสกกำกับ ที่เรียกว่า “เล่นแร่แปรธาตุ” เนื้อเมฆสิทธิ์ มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว ในอดีตมีพระเกจิอาจารย์หลายท่านที่มีความสามารถในด้านนี้ ที่โด่งดังสุด คือ หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม คลองสาน ธนบุรี ท่านได้นำ เนื้อเมฆสิทธิ์ ที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุมาหล่อหลอมสร้างขึ้นเป็นองค์พระพิมพ์ต่างๆ อาทิ พระพิมพ์ปางซ่อนหา, พระปิดตา ฯลฯ ที่เช่าหาในทุกวันนี้อยู่ที่หลักแสนขึ้นไป โดยเฉพาะ พระพิมพ์ปางซ่อนหา ที่ถือเป็นพิมพ์ยอดนิยมสุด ที่เห็นในภาพนี้เป็นพระของรศ.จิรพัฒน์ เงาประเสริฐวงศ์ อาจารย์คณะวิศวะ จุฬาฯ

•• หลายคนบอกว่า ช่วงนี้ พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ ราคาแผ่วลงมากแล้ว ก็อาจจะใช่ในกรณีพระที่ไม่สวยคมชัดเท่าที่ควร แต่สำหรับพระสวยคมชัดดูง่าย ราคายังคงไปได้เรื่อยๆ ช่วงนี้ต้องยอมรับเศรษฐกิจไม่ดีนัก แม้แต้ร้านขายข้าวก็ยังบ่นว่าขายไม่ดี นับประสาอะไรกับ พระเครื่อง ที่อยู่นอกเหนือความจำเป็น คนที่มีเงินเหลือกินเหลือใช้เท่านั้นที่ยังเช่าบูชาพระเครื่องเป็นประจำ อย่างเช่น ป๋อง สุพรรณ แม้ว่าจะโดน “เบี้ยวหนี้” ไปบ้างก็ยังอยู่ได้ด้วยความมั่นคง ช่วงนี้เก็บ พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด ปี ๒๕๐๕ พิมพ์ใหญ่ เอ เอาไว้หลายองค์ คัดเฉพาะองค์สวยแท้ดูง่าย อย่าง ๒ องค์ในภาพนี้ ถือเป็น พระองค์ครู เนื้อครูพิมพ์สวยคมชัด บัวคว่ำบัวหงาย ๘ กลีบคมชัดเป็นรูปสามเหลี่ยม รายละเอียดบนใบหน้าคมชัดทุกอย่าง รวมทั้งริ้วจีวรและสังฆาฏิ และที่สำคัญมีดินเบ้าเดิมๆ ติดอยู่ด้วยในซอกลึกขององค์พระ พระสวยระดับนี้ต้องว่ากันที่หลักแสนปลายไปจนถึงหลักล้านกันแล้วในชั่วโมงนี้

•• เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ พิมพ์ห้าเหลี่ยม ปี ๒๕๐๘ เนื้อกะไหล่ทองเป็นอีกพิมพ์ที่ไม่ได้เป็นเหรียญเสมา หรือเหรียญรูปไข่ ที่เป็นเหรียญพิมพ์มาตรฐานของ วัดช้างให้ เหรียญที่มีพิมพ์แตกต่างไปนี้มักจะเป็น เหรียญที่แจกในวัดไทยที่เกาะปีนัง...แต่สำหรับเหรียญนี้คงไม่ใช่ ตามคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ใน จ.ปัตตานี บอกว่า เหรียญนี้แจกที่วัดช้างให้... ปัจจุบันนับเป็นเหรียญที่ได้รับความสนใจของนักสะสม เพราะมีเอกลักษณ์ที่แปลกตาจาก เหรียญหลวงพ่อทวด ทั่วๆ ไป กล่าวคือ มีพิมพ์ทรงเป็นลักษณะ ๕ เหลี่ยม มี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์นิยม (สังเกตด้านหน้าฝั่ง หลวงพ่อทวด ที่มุมล่างขวาหลวงพ่อทวด จะมีเส้นเฉียงหนึ่งเส้นทำมุมประมาณ ๔๕ องศากับแนวระดับ) และ พิมพ์ทั่วไป (ไม่มีเส้นที่มุมขวาล่าง) เป็นเหรียญเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง แต่ก็มีบ้างที่เป็นเหรียญทองแดงผิวไฟ ซึ่งไม่ได้ลงกะไหล่ทอง...จริงๆ แล้วเหรียญ ๒ พิมพ์นี้มาจากการปั๊มของแม่พิมพ์เดียวกัน เพราะตำหนิหลักๆ ทุกจุดเหมือนกันทั้งด้านหน้าและหลัง แต่เนื่องจากระหว่างการปั๊มในช่วงหลังๆ อาจเกิดการเปลี่ยนสภาพของแม่พิมพ์ จึงทำให้เกิดตำหนิที่แตกต่างกันบ้าง ในระหว่าง ๒ พิมพ์นี้...เหรียญในภาพนี้เป็น เหรียญพิมพ์นิยม ที่มีสภาพสวยสมบูรณ์มาก ปั๊มได้คมชัดทุกมิติ กะไหล่ทองยังอยู่ครบสมบูรณ์ทั้งเหรียญ การันตีความงามด้วยการเป็นแชมป์งานประกวดที่ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย รับรองมาแล้วหลายครั้ง เป็นเหรียญของ รศ.ดร.ตรีทศ เหล่าศิริหงษ์ทอง อาจารย์นักวิจัยชื่อดังท่านหนึ่งของเมืองไทย สายวิศวกรรมอุตสาหการ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

•• “หุ่นพยนต์” คือ หุ่นจำลองรูปคน ที่สร้างขึ้นโดยอาจารย์ผู้มีเวทมนตร์คาถา เป็นความเชื่อในทางไสยศาสตร์ ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล โดยการใช้หญ้าแพรก ไม้ไผ่ ขี้ผึ้ง ก้านใบลาน ผ้ายันต์ ฯลฯ มามัดขึ้นเป็นรูปคน นับเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่สร้าง “เครื่องราง” ชนิดนี้ขึ้น “หุ่นพยนต์” อันดับ ๑ ของวงการพระเครื่องรางของขลังในทุกวันนี้ คือ “หุ่นพยนต์”ของ อาจารย์ลอย โพธิ์เงิน วัดสุวรรณ จ.พระนครศรีอยุธยา และผู้ที่รู้เรื่องนี้ดีคนหนึ่ง คือ มโนมัย อัศวธีระนันท์ โดยได้ข้อมูลมาจาก ๑.ญาติของท่าน อ.ลอย ๒.ลูกศิษย์ของท่าน และ ๓.ผู้นิยมพระเครื่องรางของขลังของท่าน อ.ลอย ซึ่งเป็นผู้ที่เช่าหาและเก็บสะสม “หุ่นพยนต์” เป็นกลุ่มแรกๆ ตั้งแต่ราคายังไม่สูงนัก คนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะซื้อเข้าอย่างเดียว ไม่ได้ขายต่อให้ใครเลย...ทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดคำว่า “มาตรฐาน” และการชี้ขาด เก๊-แท้ ซึ่งมั่นใจได้ว่า เที่ยงตรงที่สุด อันที่จริง “มาตรฐาน” ที่ว่านี้ เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ “ของเก๊” ยังไม่ระบาดกลาดเกลื่อนอย่างทุกวันนี้ เพียงแต่เป็นที่รู้กันในกลุ่มคนในพื้นที่ไม่กี่คนเท่านั้น...สำหรับ “หุ่นพยนต์” อ.ลอย ที่เห็นนี้ ถือว่าเป็นตนที่มี ขนาดเล็กสุด เท่าที่เคยพบเห็นมาในวงการนักสะสมเครื่องรางสายนี้ คือ ความสูงจากศีรษะถึงปลายเท้าไม่ถึง ๓ ซ.ม.สวยสมบูรณ์มาก ลักษณะศิลปะการถัก วัสดุ ทุกๆ องค์ประกอบจัดว่า ดูง่าย ถือเป็น “องค์ครู” ได้เลย เป็นสมบัติของ ฐกร บึงสว่าง บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง

•• รูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย ตามรอยจอบแรก ปี ๒๕๕๖ มอบเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ส่งพระเข้าประกวด งานตามรอยจอบแรก “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ปี ๒๕๕๖ จัดโดย ธัญญศักดิ์ แสงศรีจันทร์ นายกเทศบาลตำบลสุเทพ และ โครงการอนุรักษ์และเผยแพร่พุทธศิลป์ล้านนา สำนักบริการวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการนี้จัดเป็นประเพณีทุกปี ปีนี้นับเป็นปีที่ ๖ เพื่อสืบสาน ศรัทธาบารมีครูบาเจ้าศรีวิชัย ในงานมีการเสวนาวิชาการ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย ตามรอยประคำ๑๐๘ เม็ด” นิทรรศการโชว์พระครูบาเจ้าศรีวิชัย และพระเครื่องล้านนา งานประกวดการอนุรักษ์พระบูชา พระเครื่อง เหรียญคณาจารย์ และเครื่องรางล้านนา ๔๓๐ รายการ ผู้ที่ได้รางวัลที่ ๒, ๓ และชมเชย จะได้รับ หนังสือ “ตามรอยจอบแรก” ปี ๒๕๕๖ ตลอดงานมีการบรรเลง เพลงคำเมือง โดย คำหล้า ธัญยพร ศิลปินล้านนา

•• สำหรับท่านที่เล่น Facebook ขอเรียนว่า ขณะนี้ผู้เขียนได้เปิดหน้า ยอดนิยมจากคมเลนส์ส่องพระ ทางหน้าFacebook แล้ว เป็นเรื่องของพระเครื่องโดยเฉพาะ ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับการท่องเที่ยว สิ่งที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน และอื่นๆ เชิญเข้าไปอ่านชมได้ที่ Facebook เช่นกันในนาม “แล่ม จันท์พิศาโล” •• พบกับ คมเลนส์ส่องพระ ได้ใหม่ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ต่อไป...ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาโดยตลอด พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่ดี และกำลังใจที่มีคุณค่าเสมอ...นะมัสเต •••


ข้อมูลจาก http://www.komchadluek.net/detail/20131020/170889.html



  พระเครื่อง มณเฑียร   สงวนลิขสิทธิ์ เนื้อหาทั้งหมดตั้งแต่ปี 2011 ชมรมพระเครื่อง มณเฑียร   พระเครื่อง มณเฑียร  
 
พระเครื่อง มณเฑียร เว็บไซด์ : พระมณเฑียร : WWW.PRAMONTIEN.COM   พระเครื่อง มณเฑียร